มิว นักดนตรีอิสระที่ชอบขีดบ้างเขียนบ้าง
นักล่าฝันจากรายการ Academy Fantasia ss2
เรามาทำความรู้จักมิว พร้อมที่มาและที่ไปของงานแสดงนี้ผ่านบทสัมภาษณ์กัน
พอได้รับการชักชวนให้มาจัดงานแสดงครั้งนี้
มิวคิดอย่างไร จึงตกปากรับคำ?
ตอบ : ผมคิดว่าช่วงเวลามันประจวบเหมาะพอดีที่พี่โจได้ทักมาชวนไปจัดงาน เพราะตอนแรกผมก็คิดว่าอยากทำหนังสือส่วนตัวเก็บไว้และขายให้กับคนที่สนใจเนื้อหาที่ค่อนข้างเป็นส่วนตัว พอคิดว่าอย่างน้อยถ้ามีคนอ่านเพิ่มขึ้น ก็อาจจะมีประโยชน์ต่อคนมากขึ้นตาม ถ้าเขาอ่านแล้วเขาเข้าใจที่เราสื่อ เขาก็จะได้สำรวจตนจากมุมมองของผม ก็เลยไม่ลังเลที่จะลองลุยดูครับ มันเหมือนผมกำลังเดินเท้าไปตลาดข้างหน้า พี่โจขับรถผ่านมาทักว่า “เห้ย ไปทางเดียวกัน ขึ้นรถมาสิ!” ผมเลยโอเคมาก ๆ ครับ 😂
คือผมไม่ได้จบอักษร หรือทำงานเกี่ยวกับการเขียนบทความมา อาจจะเคยเขียนบทรายการโทรทัศน์และงานออร์กาไนส์มาบ้าง แต่บทความข้อความต่าง ๆ ในเฟสบุคของผม มันไม่ใช่งาน มันเป็นข้อความ 12 ปีสิ่งที่ล้นออกมาจากการสำรวจใจ และการมองสภาวะที่จิตใจตนเองจับต้องได้เท่านั้น จึงพิมพ์ออกมาค่อนข้างบ่อยและไม่ต้องบังคับว่าวันนี้ฉันต้องเขียนแล้วหรืออะไร ความคิดมันมาเองของมันครับ กลัวมันจะเยอะไปกว่านี้เลยชิงจัดก่อนดีกว่า เดี๋ยวคัดมาจัดไม่ไหว
.
พอเริ่มลงมือเตรียมงาน มิวมองเห็นอะไร
หรือได้เรียนรู้อะไรจากงานที่จะนำมาแสดงในครั้งนี้บ้าง?
และจากผลงาน 12 ปี กว่า 400 ชิ้น คัดออกมา 71 ชิ้น
ด้วยวิธีเลือกแบบไหน?
ตอบ : ได้เรียนรู้ว่า การจัดนิทรรศการของตัวเอง มันมีความหมายในทางจิตวิญญาณกับเจ้าของงานมากกว่าผู้มาสัมผัสตัวงานเสียอีก ยิ่งเป็นนิทรรศการคำคมข้อเขียน เรายิ่งได้ทบทวนสิ่งที่เราเป็นมาและสำรวจกระแสความคิดมา เราเห็นโครงสร้างของเรา เห็นสัจจะของเราว่ามันทำงานอย่างไร แล้วเห็นว่าเรารักผลงานของเราแค่ไหน สรุปกลายเป็นว่า เรารักความเป็นตัวเองของเรามากขึ้นกว่าเดิม และเราได้เอาใจใส่สิ่งที่กลั่นออกมาจากใจ ให้ส่งไปหาผู้อื่นอย่างละเอียดละออขึ้นไปอีกขั้นนึง
เราค่อนข้างคำนึงถึงระยะการมอง และระดับการอ่าน การอ่านอะไรที่ต้องใช้สมาธิหรือสำรวจใจตนเองมาก ๆ ตามความรู้สึกของผมสายตามันต้องตก ๆ หน่อยไม่มองสูงมาก มันจะค่อนข้างคิดได้ดี จึงแขวนทุกข้อความให้เตี้ยกว่าพวกภาพวาดที่ต้องเสพกันอีกแบบ เพลงเราก็เลือกเพลงที่เราฟังแล้วเราสงบได้ตอนอยู่บ้าน เอามาเปิดในงานด้วย
ส่วนเรื่องวิธีเลือกข้อความ เอาง่าย ๆ เลย เราเลือกในสิ่งที่คิดว่าเราเขียนค่อนข้างรู้เรื่องประมาณนึง เพราะผมรู้ธรรมชาติตนเองว่าเป็นคนยุคไหนก็มิทราบ แต่ชอบเขียนทุกอยากย้อนหลังมาแต่เด็ก ตอนสมัยอนุบาลแม่บอกว่า ผมได้ที่สองเพราะตอบทุกอย่างถูกหมด แต่พอทำข้อสอบดันเขียนย้อนหลังเหมือนเราเอากระจกมาส่องตัวหนังสือ โตขึ้นก็ยังติดอยู่ในเรื่องการเอาประธานไปไว้ท้ายประโยคบ้างถ้าสมาธิหลุด ผมจึงพยายามคัดสรรสิ่งที่เข้าถึงง่ายเข้าใจง่ายมานำเสนอ บางข้อความที่ยาว ผมจะทำตัวหนังสืออีกสีนึงไว้ให้อ่านเฉพาะสีนั้น เมื่ออ่านจะรู้เลยว่า ไม่ว่าจะอ่านเต็มหรืออ่านแบบย่อ บริบทจะไม่แตกต่างกัน
นี่คือเหตุผลว่าทำไมเกือบ 400 ข้อความทำไมถึงเหลือ แค่ 71 ข้อความ
.
พอได้เริ่มแสดงงานแล้ว มีมุมมองอะไรที่มิวได้รับ
จากการแสดงงานครั้งนี้บ้าง เท่าที่ผ่านมา?
ตอบ : เราดีใจที่มีคนมองเห็นคุณค่าในสิ่งที่เราทำ มีบางคนก้าวข้ามอุปสรรคของเขาด้วยประโยคที่เราเขียน เรายินดีกับเขามาก ๆ มันเหมือนตอนที่แม่บอกผมว่า “ถ้าเราเข้าใจในสิ่งที่เราเขียน มันก็มีค่าพอสำหรับเราคนนึงแล้ว แค่นั้นก็น่าจะพอแล้วนะ” ซึ่งมันเป็นเรื่องจริง แม้ตอนแรกผมคิดว่าจะไม่มีใครมาสนใจด้วยซ้ำ แต่พอตัวหนังสือมันเดินทางมา 12 ปี มันก็ได้ฉุดช่วยผู้คนเพื่อนฝูงขึ้นมาจากบางอย่างที่เขาติดข้องอยู่ภายในใจ
สิ่งที่ทำให้ผมประทับใจมาก ๆ คือการที่มีพี่ ๆ ผู้พิการทางสายตาอยากมาอ่านงานของเรา อยากมาสัมผัสบรรยากาศในงาน อยากมาได้ยินน้ำเสียงของเจ้าของผลงาน ซึ่งผมยินดีมาก ๆ ที่จะสื่อให้เขาเห็นภาพและเข้าใจบริบทในข้อความของผมให้ได้มากที่สุด ให้สมกับที่เขาพยายามจะเข้าใจเรา และพยายามจะเสพข้อความของเรา
“เราต่างสื่อสารกันด้วยความเมตตา และอดทนต่อกัน”
สิ่งนี้มันคือหัวใจของสังคมเลยนะ
.
จากมุมมองคนมี่ไม่ใช่ศิลปินแนวขายรูปวาดหรือถ่าย
ที่คนทั่วไปจะเข้าใจว่า นั่นถึงจะมาจัดแสดงงาน
มองยังไงสำหรับคนทั่วไป ที่สามารถมาจัดแสดงงานแบบนี้ได้?
ตอบ : ถ้าเรารักงานของเรา ไม่ว่าจะรูปแบบไหน “ลองจัดเถอะครับ” แล้วมาหาวิธีสื่อสารกับคนที่จะเข้ามาเสพงานเรา เพราะการเสพงานศิลปะแบบแวะเข้าแกลอรี่เล็ก ๆ ในไทยยังไม่เป็นที่แพร่หลาย ผมมองว่า วิธีการนำเสนอจะถูกพัฒนาไปเรื่อย ๆ โดยผู้จัดและผู้พบเห็น คนที่ไม่ใช่ศิลปินยิ่งน่าจัดเลย เพราะมันทำให้เราเห็นตัวเอง และเปิดโอกาสให้ตัวเองไปสู่เส้นทางอื่นเพิ่มเติมอีกด้วย
และในครั้งนี้ ยังได้รับความช่วยเหลือจากกลุ่มคนที่ทำงานร่วมกับผู้พิการทางสายตา จัดทำ QR code เพื่อให้คนพิการทางสายตา เข้าถึงงานศิลปะที่เป็นข้อเขียนได้อีกด้วย
รีวิวจากมิว
P.space เป็นสถานที่ที่ให้บรรยากาศของการทิ้งตัวไว้กับความเรื่อยเปื่อยจนได้ที่ มีกาแฟ ชา และน้ำผลไม้สดชื่น ถึงแม้จะไม่ได้เป็นห้องแอร์ แต่ออร่าของเจ้าของสถานที่ทั้งสองคน (พี่โจและครูนุ่น) รวมถึงทีมงาน ให้อิสระกับเราจนเราสบายพอที่จะสร้างสรรค์งานได้อย่างราบรื่น ผมว่าร้านกาแฟที่มีผู้คนในร้านที่พร้อมรับฟังเราอย่างให้เกียรติและพยายามคิดตามงานหรือแนวคิดเราแบบนี้ หายากจริง ๆ นะ จึงอยากบอกผู้คนที่อยากจะมาจัดงานของตัวเองว่า
“ที่นี่เหมาะมากที่จะเริ่มอะไรใหม่ ๆ เพราะเขาฟังเรื่องใหม่ ๆ ของคุณได้”
“พวกเขาพร้อมจะลองคิดตามคุณอย่างสนุกสนานซึ่งสิ่งนี้คือคุณสมบัติพิเศษของคนที่ P.Space”
อยากเชิญชวนทุกคนที่สนใจจะจัดนิทรรศการของตัวเอง มีที่นี่เป็นตัวเลือกแรก ๆ เลยนะครับ